แนวดนตรีไทย

ดนตรีไทย

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าคนไทยเรามีการสร้างสรรค์บทเพลงตามวิถีชีวิตของแต่ละชุมชนในสมัยก่อน จนทำให้เกิดเป็นบทเพลงต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีการสืบทอดมาอยู่ในเพลงปัจจุบันบ้าง แต่ก็มีการผสมผสานเอาแนวดนตรีของทางสากลมาร่วมด้วยทำให้เกิดบทเพลงที่มีความแปลกใหม่และทันสมัยมากขึ้น วันนี้มาดูกันดีกว่าว่าแท้จริงแล้วเพลงไทยมีแนวดนตรีแบบไหนบ้าง

ลูกทุ่ง 

เป็นแนวเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมอุดมคติและวัฒนธรรมไทย โดยมีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง และลีลาการร้องการบรรเลงที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะซึ่งให้บรรยากาศ ความเป็นลูกทุ่ง สุรพล สมบัติเจริญ ได้ทำให้เพลงลูกทุ่งอยู่ในความนิยม ในช่วงปี พ.ศ. 2506–2513 จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของเพลงลูกทุ่ง ได้เกิดการแข่งขัน และยังมีนักร้องลูกทุ่งเกิดขึ้นใหม่หลายคน สำหรับธุรกิจเพลงลูกทุ่งในปัจจุบันถือเป็นตลาดใหญ่ มีทั้งค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ เป็นจำนวนมาก โดยสัดส่วนของเงินในตลาดเพลงลูกทุ่งครอง คาดการณ์น่าจะอยู่ที่ ปีละ 1,000-1,500 ล้านบาท โดยมีตลาดหลักอยู่ที่ภาคอีสาน 50% ภาคเหนือและภาคกลาง 35% และภาคใต้ 15%

ลูกกรุง

เป็นเพลงไทยสากลประเภทหนึ่ง โดยเป็นเพลงที่บอกเล่า ถ่ายทอด ความรู้สึกของสังคม และคนเมืองหลวง ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การถ่ายทอดอารมณ์ การขับร้อง น้ำเสียง ของกลุ่มนักร้อง นักแต่งเพลง และนักดนตรีจะมีรูปแบบ ประณีต ละเอียดอ่อน ออกมานุ่มนวล เนื้อร้องจะมีลักษณะเป็นร้อยแก้ว ร้อยกรอง มีความหมายสลับซับซ้อน ยอกย้อน จากบางแหล่งข้อมูลเพลงลูกกรุงกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองฯ ในรัชกาลที่ 7 บางแหล่งบอกปลาย รัชกาลที่ 6 ประมาณ พ.ศ. 2455 โดยการจ้างครูจากอิตาลีนำเครื่องสายสากลเข้ามาสอน 

เพลงไทยสากล

เพลงไทยสากล เป็นเพลงที่ขับร้องในภาษาไทย โดยเริ่มจากนำทำนองไทยเดิมใส่เนื้อร้องบรรเลงและขับร้อง โดยใช้มาตรฐานของโน้ตเพลงแบบสากล จนเป็นเพลงไทยแนวใหม่ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 มีละครเวที ละครวิทยุ และภาพยนตร์ไทย มีบทบาทสำคัญทำให้เพลงไทยสากลได้รับความนิยม จนในปัจจุบันแตกสาขาไปอีกหลากหลายแนวเพลง

เพื่อชีวิต

แต่แรกเริ่มหมายถึงเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงชีวิตของคน โดยเฉพาะคนชนชั้นล่าง กล่าวถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิต การถูกเอารัดเอาเปรียบ เพลงเพื่อชีวิตในประเทศไทยเริ่มเฟื่องฟูเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางโดยแพร่หลายช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยเนื้อหาของเพลงไม่จำกัดเฉพาะชีวิตของคนชั้นล่างอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยและการเหน็บแนมการเมืองอีกด้วย

เพลงพื้นเมือง

เป็นเพลงที่ถูกแต่งขึ้นโดยส่วนมากจะร้องต่อ ๆ กันมา โดยไม่ทราบผู้แต่ง เพลงพื้นเมืองในประเทศไทยนั้น ได้มีการสันนิษฐานว่า เกิดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาแล้ว ตามที่ปรากฏใน ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ว่า “อันราชประเพณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงประพฤติมาแต่ก่อน ถ้าทอดพระเนตรชักโคมลอยแล้ว ก็เสด็จทางเรือพระที่นั่งไปถวายดอกไม้เพลิง บูชาพระรัตนตรัยทุกพระอารามหลวง… แล้วก็ทอดพระเนตรทรงฟังประชาชนชายหญิงร้องรำเล่นนักขัตฤกษ์ เป็นการมหรสพต่างๆ “